นครอะกิตะ (ญี่ปุ่น: ??? อะกิตะ-ชิ ?) เป็นเมืองศูนย์กลางและเมืองเอกของจังหวัดอะกิตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถูกยกสถานะให้เป็นเมืองศูนย์กลาง ตั้งแต่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา
นครอะกิตะ ตั้งอยู่บริเวณที่รายชายฝั่งตอนกลางของจังหวัดอะกิตะ โดยทางตะวันตกของเมื่องเป็นชายฝั่งออกสู่ทะเลญี่ปุ่น กลางเมืองมีแม่น้ำโอะโมะโนะไหลผ่าน
พื้นที่อันเป็นที่ตั้งของนครอะกิตะ ณ ปัจจุบัน เคยเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเดะวะ ซึ่งเป็นจังหวัดในยุคโบราณของญี่ปุ่นเมื่อกว่าพันปีที่แล้ว ภายในเมือง มีซากโบราณสถานสำคัญที่เรียกว่า จิโซเด็ง อยู่ ซึ่งโบราณวัตถุนั้น ล้วนเป็นสิ่งของจากยุคหินจนถึงยุคยะโยะอิ ต่อมาในยุคนะระ ราชสำนักได้สร้างปราสาทอะกิตะขึ้นในปี พ.ศ. 1276 เพื่อสามารถควบคุมและปกครองชนเผ่าพื้นเมือง เอะมิชิ ได้ ทั้งนี้ ในยุคเซ็งโงะกุ อะกิตะ ได้ถูกปกครองโดยตระกูลซะมุไรท้องถิ่น ที่ปกครองโดยสืบสายโลหิต จนกระทั่งในยุคเอะโดะ ตระกูลซะตะเกะ ก็ได้เข้ามาปกครองพื้นที่แถบนี้และสถาปนาเป็นแคว้นคุโบะตะ ภายใต้รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ
ในรัชสมัยเมจิ เมื่อรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะล่มสลายและอำนาจสูงสุดหวนคืนสู่องค์จักรพรรดิ รัฐบาลสมเด็จพระจักรพรรดิได้ยุบแคว้นคุโบะตะ แคว้นถูกแบ่งออกเป็นสองตำบล คือ ตำบลอะกิตะ และ ตำบลคุโบะตะ และจัดตั้งเป็นจังหวัดอะกิตะในปี พ.ศ. 2414 ต่อมา เขตโบราณของอะกิตะได้ถูกแบ่งออกเป็นสองอำเภอ คือ อำเภอคิตะอะกิ และ อำเภอมินะมิอะกิตะในปี พ.ศ. 2421 ทั้งนี้ ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2429 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นในเมืองอะกิตะ และบ้านเรือนส่วนใหญ่ถูกเผาทำลาย
เมื่อประเทศมีระบบเทศบาลเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 "เทศบาลเมืองอะกิตะ" ก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งเขตเทศบาลนี้ ก็ได้รวมเอาตำบลอะกิตะ และ ตำบลคุโบะตะที่มีอยู่เดิมเข้าด้วยกัน แต่ทั้งนี้ พื้นที่บริเวณท่าเรือ ได้แยกออกไปเป็น "เทศบาลตำบลสึชึซะกิโกะ"
ในรัชสมัยไทโช เป็นยุคที่เมืองอะกิตะ มีการพัฒนาอย่างมาก จากการเข้ามาของบริษัทน้ำมัน นิปปง ออย คอเปอร์เรชั่น ในปี พ.ศ. 2457 และการเปิดสาขาของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2459